การกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม โดยยึดมั่นในวัฒนธรรมที่ได้ถือปฏิบัติ ภายใต้กรอบของ จรรยาบรรณที่ได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม ด้วยความรับผิดชอบ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้บริษัทฯได้รับผลการประเมินระดับ “ดีเลิศ” (Excellent) 7 ปีต่อเนื่อง (พ.ศ. 2559 – 2565) จากการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัท จดทะเบียนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริษัทฯ และ ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมาก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแล กิจการที่ดีตามความเหมาะสม ต่อมาคณะกรรมการบริษัท ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีในปี พ.ศ. 2555 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแล กิจการที่ดี ปฏิบัติงานร่วมกับคณะทำงานการกำกับ ดูแลกิจการที่ดี ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีในปี พ.ศ. 2555 เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ให้ทันสมัย

เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนตามที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ หน่วยงานที่กำกับดูแลกำหนด

การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสังคมโดยรวมใน ด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ และยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจริยธรรม เคารพหลักสิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึง การปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนดอื่นๆ และแนวทางปฏิบัติสากลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งมั่นพัฒนา ปรับปรุง เพื่อสร้างรากฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่ เติบโตอย่างยั่งยืน

สิ่งแวดล้อม

บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผล เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สังคม

ส่งเสริมและปลูกฝังด้านความปลอดภัยให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อยกระดับคุณภาพการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

บรรษัทภิบาล

มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักบรรษัทภิบาล มีความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ควบคู่ไปกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

นโยบายการกำกับกิจการที่ดี

นโยบายการบริหารความเสี่ยง

นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการแจ้งเบาะแส การกระทำผิดและการทุจริต

นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท และการใช้ข้อมูลภายใน

จรรยาบรรณทางธุรกิจ นโยบายและแนวปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

นโยบายจัดซื้อจัดจ้าง

 

จรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ

นโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

 

นโยบายและแนวปฏิบัติ เรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2562)

นโยบาย :

บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ โดยกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ตลอดจนสนับสนุนให้ลูกค้า  คู่ค้า ผู้รับจ้าง หรือผู้รับจ้างช่วงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัตินี้ รวมถึงข้อบังคับและกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเคร่งครัด 

1. คำนิยาม : 

บริษัท หมายถึง บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

กรรมการ/ผู้บริหาร/ พนักงาน หมายถึง กรรมการบริษัท ผู้บริหารทุกระดับชั้น พนักงานทุกระดับชั้น ของบริษัท              ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

การทุจริตคอร์รัปชั่น                    

หมายถึง การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตําแหน่งหน้าที่ หรือใช้อํานาจหน้าที่โดย          มิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับสินบน การนําเสนอ การให้คํามั่นว่าจะให้ การขอ หรือเรียกร้อง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินคือ  เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน อย่างไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลอื่นใดที่ดําเนินธุรกิจกับบริษัท เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทําหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาหรือได้เปรียบต่อธุรกิจ หรือเพื่อเอื้อประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม  ทั้งนี้รวมถึงการกระทำในรูปแบบดังต่อไปนี้

1. การให้ เสนอให้ หรือรับเงินสด หรือสิ่งของแทนเงินสด สินบน หรือบริการใดๆ กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อ

1.1. เพื่ออำนวยความสะดวกหรือความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ หรือการขอรับบริการด้านต่างๆ

1.2. เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจเหนือกว่า            คู่แข่งขันรายอื่น หรือให้ได้มาซึ่งความแน่นอนว่าจะได้รับเลือกให้เสนอสินค้า/บริการ

1.3. เพื่อให้เกิดการเพิกเฉยหรือแก้ไขให้กลายเป็นถูก โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชน จากการปฏิบัติที่อาจไม่ถูกต้อง

2. การให้ เสนอให้ หรือรับของขวัญ ของกำนัล หรือความช่วยเหลือใดๆ ที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัย แม้ในโอกาสตามประเพณีนิยม หรืองานเพื่อการกุศลใดๆ

3. การให้ เสนอให้ หรือการรับตำแหน่ง หน้าที่การงาน หรือถือหุ้นในกิจการบางประเภทที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์ได้

2.  หน้าที่และความรับผิดชอบ 

2.1  คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่กําหนดนโยบายและกํากับดูแล ให้มีระบบการสนับสนุนการต่อต้าน           การทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้พนักงานทุกคนทุกระดับได้เข้าใจและตระหนักถึงความสําคัญของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร 

2.2  คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่สอบทานการรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน และระบบการบริหารความเสี่ยง ให้มีความเหมาะสม มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ตลอดจนรับเรื่องการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่อาจเกิดจากคนในบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้อง พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการบริษัทร่วมกันพิจารณา ลงโทษ หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

2.3  คณะกรรมการกํากับดูแลกิจการที่ดี มีหน้าที่กํากับดูแล ให้คําปรึกษาและติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายการกํากับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณทางธุรกิจ ตลอดจนนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 

2.4  คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น  ตลอดจนจัดทํามาตรการและแนวทางป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อนําเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการกํากับดูแลกิจการที่ดี 

2.5  กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหาร มีหน้าที่นํานโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ โดยต้องกําหนดให้มีระบบสนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกําหนดของกฎหมาย 

3.  แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น 

บริษัทไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจทั้งหมดทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด โดยห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ 

3.1  ไม่มีพฤติกรรมใด ที่เป็นการแสดงถึงเจตนาว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น การให้ หรือรับสินบนแก่หรือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนหรือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อให้ได้มาหรือคงไว้ซึ่งธุรกิจ หรือ               ความได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง 

3.2  ไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทําที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ 

3.3  บริษัท ให้คำมั่นว่าจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเบาะแสเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่กําหนดไว้ในมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น 

3.4  พนักงานรายใดที่ได้รับการพิสูจน์จนแน่ชัดว่ากระทําการทุจริตคอร์รัปชั่น จะถูกพิจารณาบทลงโทษตามระเบียบของบริษัท เรื่องวินัยพนักงาน ตลอดจนอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทํานั้นผิดกฎหมาย 

3.5  บริษัท ไม่มีนโยบายลดตําแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบแก่พนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทํานั้นจะทําให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม 

3.6 บริษัท ให้ความสําคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทําความเข้าใจกับบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้

3.7  บริษัท จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสม อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบอย่างสมํ่าเสมอ เพื่อป้องกัน           มิให้มีการปฏิบัติที่เข้าข่ายหรือสนับสนุนให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น 

3.8  บริษัท จัดให้มีกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัท ในการดำเนินการตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ตั้งแต่การคัดเลือก การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน และการเลื่อนตําแหน่ง 

3.9  เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดําเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนทุกระดับของบริษัท ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ในเรื่องดังต่อไปนี้ 

3.9.1  การให้ความช่วยเหลือทางการเมือง     

หมายถึง การให้การสนับสนุนทางการเงิน สิ่งของ และ/หรือการเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนการส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามบริษัท เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางธุรกิจทางการค้า

บริษัท ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง จึงมีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเมือง ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง องค์กรหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจ่ายสินบน รวมถึงไม่อนุญาตให้ผู้บริหารและพนักงานกระทำการอันใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของบริษัท ตลอดจนไม่อนุญาตให้ใช้ทรัพยากรของบริษัทเพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยกำหนดแนวปฏิบัติดังนี้   

1) บริษัท ไม่สนับสนุนทางการเงินหรือสิ่งของให้แก่พรรคการเมือง นักการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้บริษัท 

2) พนักงานมีสิทธิเสรีภาพเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แอบอ้างความเป็นพนักงาน หรือนําทรัพย์สิน อุปกรณ์ หรือเครื่องมือใดๆของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการใดๆทางการเมือง หากเข้าร่วมจะต้องพึงระมัดระวังไม่ให้ดําเนินการใดๆ ที่ทําให้เกิดความเข้าใจได้ว่าบริษัทให้การสนับสนุนหรือฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง 

3.9.2  การบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน   

บริษัท สามารถบริจาคเพื่อการกุศลหรือให้เงินสนับสนุนได้ หากเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมตอบแทนสังคม โดยเป็นการประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้บริษัท และมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางธุรกิจ เช่น การให้ความรู้  การสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเพื่อการศึกษาและกีฬา เป็นต้น  โดยกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้

• การบริจาคเพื่อการกุศลด้วยเงินสดหรือทรัพย์สินของบริษัท 

ต้องดำเนินการในนามของบริษัทเท่านั้น โดยผู้รับบริจาคต้องเป็นมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล                 วัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือองค์กรที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ที่มีใบรับรอง หรือเชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบได้  

การบริจาคเพื่อการกุศลหรือการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือกิจกรรมหรือโครงการแก่สถานการกุศล  จะต้องดําเนินการด้วยความโปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องระบุชื่อผู้บริจาคหรือผู้ให้ในนาม “บริษัท” เท่านั้น และผ่านขั้นตอนการอนุมัติการจ่ายตามระเบียบของบริษัทที่กําหนดไว้   

• การบริจาคเพื่อการกุศลด้วยเงินสดหรือทรัพย์สินส่วนตัวในนามส่วนตัว 

กรรมการ ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานทุกคนทุกระดับ สามารถบริจาคเงินสดหรือทรัพย์สินส่วนตัวในนามส่วนตัวได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ แอบแฝง ส่อทุจริต หรือหวังผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมแก่บริษัท

3.9.3  ของขวัญ และค่าใช้จ่ายเลี้ยงรับรอง 

บริษัท ตระหนักดีว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสิ่งสําคัญที่จะนํามาซึ่งความสําเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของบริษัท บริษัทจึงได้กําหนดแนวปฏิบัติให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน สามารถให้ของขวัญและเลี้ยงรับรองพันธมิตรทางธุรกิจได้ หากเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้

1) ประเภทของขวัญหรือการเลี้ยงรับรอง รวมถึงมูลค่าต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ หรือตามเทศกาลที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ 

2) ต้องไม่เป็นการกระทําเพื่อครอบงํา ชักนําหรือตอบแทนบุคคลใดให้กระทําการที่ไม่เหมาะสม เพื่อได้มาซึ่งความได้เปรียบ หรือการช่วยเหลือหรือให้ผลประโยชน์ต่อบริษัท 

3) ต้องเป็นการให้ในนามบริษัท ไม่ใช่ในนามของกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน และเป็นการดำเนินการอย่างเปิดเผย  

4) ต้องเป็นไปตามระเบียบ และหลักเกณฑ์ของบริษัท 

4.  มาตรการและช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน 

บริษัท กำหนดมาตรการรองรับการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน เกี่ยวกับการกระทําผิดกฎหมาย จรรยาบรรณทางธุรกิจ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยจัดช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนให้บริษัทได้อย่างสะดวกและเหมาะสม มายังช่องทางการรับเรื่องที่กำหนดไว้ ดังนี้

 ทางช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียน (Whistle Blower) บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งผู้ร้องเรียนสามารถเลือกส่งให้กรรมการอิสระรายใดหรือทุกรายก็ได้ ดังนี้  

– นายเอ้งฮัก  นนทิการ enghug_non@srithaisuperware.com

– นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี suchat_boo@srithaisuperware.com

– นายศุภโชค  เลี่ยมแก้ว supachok_liam@srithaisuperware.com

– นางสิริพร ไศละสูต siriporn_sai@srithaisuperware.com 

 ทางจดหมายส่งถึงกรรมการอิสระรายนั้นๆ โดยระบุชื่อกรรมการอิสระ และที่อยู่คือบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ ตู้ ปณ. 84 เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ 10140 

ทั้งนี้ การร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสนั้น ผู้ร้องเรียนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน แต่หากเปิดเผยก็จะสามารถช่วยให้บริษัทสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือแจ้งผลของการดำเนินการได้ 

บริษัท จะปกปิดชื่อ ที่อยู่หรือข้อมูลใดๆ ที่อาจระบุตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูล โดยเก็บรักษาข้อมูลของ                ผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ และจํากัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดําเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้  

บริษัท กำหนดให้เลขานุการคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งบริษัทแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริง       ทำหน้าที่รับผิดชอบเก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ        ห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกําหนด  พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนข้อเท็จจริง         เพื่อไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตรายใด หรือ ความไม่ชอบธรรม อันเกิดมาจากการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียนดังกล่าวด้วย   

5.   ขั้นตอนการดําเนินการสืบสวน และบทลงโทษ 

5.1  บริษัท แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูล สืบสวนข้อเท็จจริง และแจ้งผลการตรวจสอบเป็นระยะๆ ให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบ(หากเปิดเผยข้อมูลที่ติดต่อ) พร้อมทั้งรายงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และคณะกรรมการตรวจสอบ ตามลำดับ

5.2  หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทําการทุจริตคอร์รัปชั่นจริง  บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหา และพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทําอันทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นตามที่ถูกกล่าวหา 

5.3  หากผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นจริง โดยผู้กระทําการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นไม่ว่าจะเป็น กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน ถือว่าเป็นการกระทําผิดต่อนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท จะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกําหนดไว้  

ทั้งนี้ หากการกระทําทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเป็นการกระทําที่ผิดต่อกฎหมาย บริษัทจะนำผู้กระทําผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วย

6. การอบรมและการสื่อสาร 

6.1  บริษัท จัดให้มีการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนให้บุคคลภายในบริษัทรับทราบผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การปฐมนิเทศกรรมการและพนักงานใหม่ งานอบรมหรือสัมมนา การติดประกาศในบอร์ดประชาสัมพันธ์ ระบบ Information  อีเมล์ เว็บไซต์ของบริษัท  เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจ และตระหนักในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง 

6.2  บริษัท สื่อสารและเผยแพร่นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนไปยังสาธารณชน บริษัทย่อย บริษัทร่วม ตลอดจนตัวแทนทางธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของบริษัท รายงานประจําปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้ยึดมั่นในมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเช่นเดียวกับบริษัท 

อนุมัติโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ .. กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

…………………………………….. ……………………………………..

              (นายสุชาติ  บุญบรรเจิดศรี)                   (นายสนั่น  อังอุบลกุล)

             ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี                                    ประธานกรรมการ

 
 
นโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ

 

กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ

ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2558) 

คำจำกัดความ

บริษัท  หมายถึง      บริษัท  ศรีไทยซุปเปอร์แวร์  จำกัด (มหาชน)

คณะกรรมการบริษัท  หมายถึง      คณะกรรมการบริษัท  ศรีไทยซุปเปอร์แวร์  จำกัด (มหาชน)

1.วัตถุประสงค์

        คณะกรรมการตรวจสอบ คือ คณะกรรมการชุดย่อยที่คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภารกิจในการปฏิบัติงานและเพื่อให้กิจการมีระบบกำกับดูแลที่ดี คณะกรรมการตรวจสอบ  จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังถึงการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินการและการเพิ่มมูลค่าให้องค์กรในด้าน

  • ความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือตลอดจนความโปร่งใสของรายงานทางการเงินที่ได้รับการเผยแพร่
  • เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่เพิ่มมากขึ้น โดยคณะกรรมการบริษัท จะคำนึงถึงความรับผิดชอบของตนเองต่อ

            – การรายงานข้อมูลทางการเงิน

            – การเลือกใช้นโยบายการบัญชีที่เหมาะสม

            – การบริหารทางการเงิน

            – ระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน

            – การปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

            – การจัดการและการควบคุมความเสี่ยงทางธุรกิจ

            – การเสนอแนะการแต่งตั้งและการประเมินผลงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

  • เอื้อโอกาสให้คณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาเรื่องอื่นๆที่นอกเหนือจากการรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายในได้ในเชิงลึกขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพต่อการบริหารงานในด้านอื่น ๆ
  • ความแข็งแกร่งในบทบาทและอำนาจของกรรมการจากภายนอก
  • เสริมสร้างความเข้าใจของกรรมการ เกี่ยวกับขอบเขตของการตรวจสอบที่ถูกกำหนดไว้

        ในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบ จะต้องดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในการทำงานกับคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร รวมทั้งผู้ตรวจสอบภายนอกและผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทและเพื่อให้การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กรรมการตรวจสอบแต่ละท่านจำเป็นต้องพัฒนาและดำรงไว้ซึ่งความชำนาญงานและความรอบรู้ตลอดจนความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมทั้งเข้าใจในธุรกิจและความเสียหายของบริษัท

2.องค์ประกอบและโครงสร้าง

        2.1  คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคัดเลือกจากกรรมการอิสระ ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าวต้องมีอย่างน้อย 3 คน

        2.2  กรรมการอิสระที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบ ต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด โดยต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้

        2.3  วาระการดำรงตำแหน่งครั้งละไม่น้อยกว่า 3 ปี

        2.4  ให้หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัททำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการนัดหมายการประชุม จัดเตรียมวาระการประชุม นำส่งเอกสารการประชุมและบันทึกรายงานการประชุม

3.คุณสมบัติของกรรมการตรวจสอบ

        กรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการอิสระของบริษัท โดยกรรมการอิสระแต่ละคน ต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้

  • ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 (ศูนย์จุดห้า) ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง  ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระท่านนั้น ด้วย
  • ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสองปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
  • ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  • ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคล ที่อาจมีความขัดแย้ง ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ หรือผู้บริหาร ของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง

        โดยความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามข้อความข้างต้น รวมถึงการทำรายการทางการค้าที่กระทำ  เป็นปกติเพื่อประกอบกิจการ การเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯหรือคู่สัญญามีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละสามของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัทฯหรือตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ การคำนวณภาระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยอนุโลม แต่ในการพิจารณาภาระหนี้ดังกล่าว ให้นับรวมภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างหนึ่งปีก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบุคคลเดียวกัน

  • ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง และไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
  • ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่าสองล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการทางวิชาชีพเป็นนิติบุคคล  ให้รวมถึงการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
  • ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท 
  • ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

4.อำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบ

        คณะกรรมการบริษัท มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบ มีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

            4.1 ปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ

            4.2 เชิญกรรมการ ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทมาร่วมประชุมหรือชี้แจงหรือตอบข้อซักถามในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการและการดำเนินงานของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วมทุนและโครงการร่วมทุนที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

            4.3 ปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาของบริษัท (ถ้ามี) หรือจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญภายนอก ในกรณีที่จำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัท

            4.4 ตรวจสอบและสอบสวนตามที่จำเป็นในเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนร้องขอข้อมูลของบริษัทตามที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานภายใต้หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

5.หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

        คณะกรรมการตรวจสอบ เป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้

  • อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ

            คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ดังนี้

            5.1  สอบทานให้บริษัทมีรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยอย่างเพียงพอ โดยการประสานงานกับผู้สอบบัญชีและผู้บริหารที่รับผิดชอบจัดทำรายงานทางการเงินทั้งในรายไตรมาสและประจำปี  คณะกรรมการตรวจสอบอาจแนะให้ผู้สอบบัญชี สอบทานหรือตรวจสอบรายการใดๆที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญในระหว่างการตรวจสอบบัญชีของบริษัทก็ได้

            5.2  สอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผลโดยสอบทานร่วมกับผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายใน

            5.3  พิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท พิจารณาเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ความเพียงพอของทรัพยากร และปริมาณงานตรวจสอบของสำนักงานสอบบัญชีนั้น รวมถึงพิจารณาเสนอให้เลิกจ้างผู้สอบบัญชีของบริษัท ตามความเหมาะสม

            5.4  ตรวจสอบการทำรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องตามประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

            5.5  ทบทวนนโยบายการบริหารทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจของผู้บริหารและทบทวนร่วมกับผู้บริหารของบริษัทในรายงานสำคัญ ที่ต้องเสนอต่อสาธารณชนตามที่กฎหมายกำหนด

            5.6  จัดทำรายงานกิจกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ  และรายงานดังกล่าวควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้

                5.6.1  ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำและการเปิดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินของบริษัทถึงความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้

                5.6.2  ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัท

                5.6.3  เหตุผลที่เชื่อว่าผู้สอบบัญชีของบริษัท  มีความเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งต่อไปอีกวาระหนึ่ง

                5.6.4  ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

                5.6.5  ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (“การทุจริต”) 

                5.6.6  รายงานอื่นใดที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

        5.7  คณะกรรมการตรวจสอบควรจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ดังต่อไปนี้

                5.7.1  การพิจารณางบการเงินและรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง หลักการบัญชีและวิธีปฏิบัติทางบัญชี การปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี การดำรงอยู่ของกิจการ การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญรวมถึงเหตุผลของฝ่ายจัดการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายบัญชี ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัท เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป

                5.7.2  การพิจารณาระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน 

                5.7.3  การพิจารณาทบทวนแผนการตรวจสอบภายในประจำปีของบริษัท ขั้นตอนการประสานงานของแผนการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และการประเมินผลการตรวจสอบร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบควรสอบถามถึงขอบเขตการตรวจสอบ   ที่ได้วางแผนไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าแผนการตรวจสอบดังกล่าวจะช่วยให้ตรวจพบการทุจริตหรือข้อบกพร่องต่างๆของระบบการควบคุมภายใน

                5.7.4  การพิจารณาร่วมกับผู้ตรวจสอบภายใน ถึงปัญหาหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในระหว่างการตรวจสอบ และทบทวนการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายใน

                5.7.5  การพิจารณาร่วมกับผู้สอบบัญชีถึงปัญหาหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบงบการเงิน

                5.7.6  การพิจารณาร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชี ว่าได้มีการวางแผนเพื่อทบทวนวิธีการและการควบคุมการประมวลข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และสอบถามเกี่ยวกับโครงการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะเพื่อป้องกันการทุจริตหรือการใช้คอมพิวเตอร์ไปในทางที่ผิดโดยพนักงานบริษัทหรือบุคคลภายนอก

                5.7.7  การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

                5.7.8  การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการต่อต้านการทุจริตของบริษัท จากฝ่ายบริหาร หรือหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท ตลอดจนข้อมูลจากระบบการแจ้งข้อร้องเรียนจากบุคคลทั่วไป (Whistle Blower)  

                5.7.9  การปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

                5.7.10  การพิจารณาประเมินผลตนเองกับการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย

        5.8  สอบทานให้บริษัท มีรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ

        5.9  พิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย หรือเลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท ตลอดจนร่วมกับฝ่ายบริหาร ประเมินผลการปฏิบัติงานและพิจารณาความดีความชอบ และการลงโทษหัวหน้า หน่วยงานตรวจสอบภายใน

        5.10  สอบทานกับฝ่ายบริหารในเรื่องนโยบายและความเพียงพอในการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัท

        5.11  ทบทวนนโยบายการบริหารทางการเงินของบริษัท

        5.12  รายงานภารกิจของคณะกรรมการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัท

        5.13  ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย และด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

        5.14  ทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ ตามความจำเป็นและเหมาะสม

  • ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตรฯนี้  คณะกรรมการตรวจสอบมีความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทโดยตรง และกรรมการยังคงรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทต่อบุคคลภายนอก

6. การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ

        6.1  วาระการประชุม

        เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ จัดทำหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ โดยการประชุมแต่ละครั้งมีการกำหนดวัน เวลา สถานที่และวาระการประชุมอย่างชัดเจนและจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้คณะกรรมการตรวจสอบและผู้เข้าร่วมประชุมเป็นการล่วงหน้าด้วยระยะเวลาพอสมควร  เพื่อให้มีเวลาในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ หรือเรียกขอข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม  ทั้งนี้การกำหนดเรื่องต่างๆ สำหรับการประชุมให้เป็นไปตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ตามที่กำหนดไว้ข้างต้น

        6.2  จำนวนครั้งการประชุม

        คณะกรรมการตรวจสอบ  มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง แล้วแต่สถานการณ์และความจำเป็น

        6.3  ผู้เข้าร่วมประชุม

            – กรรมการตรวจสอบ ต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทุกครั้ง ตามจำนวนกรรมการตรวจสอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรเพื่อให้ครบองค์ประชุม

            – คณะกรรมการตรวจสอบ ควรเชิญผู้ตรวจสอบภายนอกและผู้ตรวจสอบภายในของบริษัท เพื่อนำเสนองาน และอาจเชิญผู้อื่นที่มิใช่กรรมการตรวจสอบ เช่น ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมตามความจำเป็นและเหมาะสม

        6.4 การลงคะแนนเสียง

            –  ใช้ระบบคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เป็นมติที่ประชุม

        6.5 รายงานการประชุม

            เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่จดบันทึกรายงานการประชุม ซึ่งรายงานการประชุมดังกล่าว ต้องนำส่งคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการบริษัทที่เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งนำส่งต่อผู้สอบบัญชีเพื่อยืนยันข้อมูลและบอกกล่าวเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบให้ความใส่ใจหรือควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษภายใน 14 วันนับแต่วันที่มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ

7.การรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ

        คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ หรือหน้าที่อื่นใดที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท  รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ จะมีความสำคัญต่อคณะกรรมการบริษัท  ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป  เนื่องจากรายงานดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระและตรงไปตรงมาของคณะกรรมการตรวจสอบ และทำให้คณะกรรมการบริษัทมั่นใจได้ว่าฝ่ายจัดการได้มีการบริหารงานอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

        7.1  การรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

            7.1.1  รายงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำอย่างเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่คณะกรรมการบริษัทจะได้ทราบถึงกิจกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบ

                – รายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ  ซึ่งระบุความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน

                – รายงานเกี่ยวกับความเห็นต่อรายงานทางการเงิน  การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน

                – รายงานความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยง และมาตรการต่อต้านการทุจริต

                – รายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการบริษัท ควรทราบ

            7.1.2  รายงานสิ่งที่ตรวจพบในทันที เพื่อคณะกรรมการบริษัทจะได้หาแนวทางแก้ไขได้ทันเวลา

                – รายการความขัดแย้งทางผลประโยชน์

                – ข้อสงสัยหรือสันนิษฐานว่าอาจมีการทุจริต หรือมีสิ่งผิดปกติ หรือมีความบกพร่องสำคัญ ในระบบการควบคุมภายใน

                – ข้อสงสัยว่าอาจมีการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องของบริษัท

                – ข้อสงสัยหรือข้อพึงสันนิษฐานในพฤติการณ์ว่ากรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบ ในการดำเนินงานของบริษัทได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบและรายงานให้ทราบ และให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้นให้แก่ คณะกรรมการบริษัท สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้สอบบัญชีทราบภายใน 30 วัน ทั้งนี้ พฤติการณ์อันควรสงสัยที่ต้องแจ้งและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

                – รายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการบริษัท ควรทราบ

            7.2  การรายงานต่อหน่วยงานทางการ

                1) หากคณะกรรมการตรวจสอบได้รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทถึงสิ่งที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน และได้มีการหารือร่วมกันกับคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารแล้วว่าต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เมื่อครบกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ร่วมกัน หากคณะกรรมการตรวจสอบพบว่า มีการเพิกเฉยต่อการดำเนินการแก้ไขดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร คณะกรรมการตรวจสอบหรือกรรมการตรวจสอบคนใดคนหนึ่ง อาจรายงานสิ่งที่พบดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

                2) การรายงานให้กับสำนักคณะกรรมการตลาดทุน เพื่อชี้แจงกรณีผู้สอบบัญชีของบริษัท ได้แจ้งข้อมูลอันควรสงสัยในพฤติกรรมของกรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 

            7.3 การรายงานต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป

รายงานกิจกรรมที่ทำระหว่างปี ตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ  พร้อมทั้งเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                1) ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน

                2) ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง

                3) ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนระเบียบของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

                4) ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

                5) ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการต่อต้านการทุจริต 

                6) ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชีที่เสนอแต่งตั้งพร้อมค่าสอบบัญชี

                7) ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์

                8) จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมของกรรมการตรวจสอบแต่ละคน

                9) ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร

               10) รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนโดยทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

8.การประเมินผลคณะกรรมการตรวจสอบ

            เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ จึงอาจกำหนดกระบวนการประเมินผลคณะกรรมการตรวจสอบไว้อย่างเป็นทางการ โดยการสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบและการตอบแบบสอบถามของสมาชิกคณะกรรมการตรวจสอบถึงความมีประสิทธิภาพและการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ  และคณะกรรมการตรวจสอบควรได้รับทราบถึงผลการประเมินและผลกระทบเกี่ยวกับการดำเนินงานจากผู้สอบบัญชี  หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน  ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ผู้บริหาร และคณะกรรมการบริษัท  เพื่อนำผลการประเมินดังกล่าวมาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

    ทั้งนี้ การประเมินผลของคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบทั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกำหนดไว้ปีละ 1 ครั้ง

กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

กฎบัตรคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กฎบัตรคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

(Risk Management Sub-Committee Charter)

(ฉบับปรับปรุงปี 2563)

  1. ที่มา

          เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี  (Good Governance)  ของบริษัทฯ และตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในด้านเกี่ยวกับการบริหารและจัดการความเสี่ยงของบริษัทฯ  คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท     ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา

  1. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อกำหนดนโยบาย กรอบ ขอบเขต อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน ด้านการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ

2.2 เพื่อกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร  ลดผลกระทบ หรือความเสียหายจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยอมรับได้ รวมทั้งคำนึงถึงการมีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลครอบคลุมทั้งความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ การดำเนินงาน การเงิน และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ 

2.3 เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ  อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้บริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

  1. องค์ประกอบ และคุณสมบัติ

            3.1 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง

      จากแต่ละสายธุรกิจ  ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท จำนวนไม่เกิน 9 คน

3.2  อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจในงานของหน่วยงาน และ

ธุรกิจของบริษัทฯ  หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

            3.3  สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงานในฐานะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

  1. การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง

                4.1 การแต่งตั้ง

4.1.1 คณะกรรมการบริษัท เป็นผู้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

4.1.2 คณะกรรมการบริษัท แต่งตั้งประธานคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง 1 คน  จากคณะอนุกรรมการฯ ที่ได้แต่งตั้งไว้ในข้อ 4.1.1

4.1.3 คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงพิจารณาเสนออนุกรรมการฯ คนใดคนหนึ่ง     ในคณะอนุกรรมการฯ  หรือพนักงานคนใดคนหนึ่งของบริษัทฯ  ทำหน้าที่เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

            4.2  วาระการดำรงตำแหน่ง

4.2.1 อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง เว้นแต่คณะกรรมการบริษัทจะมีมติเป็นอย่างอื่น

4.2.2 อนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่ครบวาระ มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งให้กลับมา       ดำรงตำแหน่งได้อีก หากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท

4.2.3 หากอนุกรรมการฯ ท่านใดมีเหตุให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ ซึ่งมีผลทำให้จำนวนอนุกรรมการฯ ไม่ครบตามองค์ประกอบ คณะกรรมการบริษัทจะแต่งตั้งผู้บริหารจากสายงานนั้น ๆ ใหม่ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่จำนวนอนุกรรมการฯ ไม่ครบถ้วน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งต่อจากวาระเดิมของอนุกรรมการฯ ที่ออกก่อนควบวาระ เพื่อให้มีความต่อเนื่องของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

4.3 การพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เมื่อ

  • พ้นจากการเป็นผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทฯ
  • คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
  • ลาออก
  • เสียชีวิต
  • ขาดคุณสมบัติของการเป็นอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง
  1. อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ

5.1  อำนาจของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

  5.1.1 มีอำนาจให้ผู้บริหารและหรือพนักงานของบริษัทฯ ชี้แจงข้อมูลเป็นลายลักษณ์-อักษร หรือเชิญผู้บริหารและหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมการฯ เพื่อชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงตามส่วนงาน          ที่รับผิดชอบ

5.1.2 มีอำนาจมอบหมายให้ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ดำเนินการหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่กำหนด ในกฎบัตรฯ นี้ หรือหน้าที่พิเศษอื่นใดตามที่คณะอนุกรรมการฯ มอบหมายและคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบ

5.1.3  มีอำนาจสอบทานแผนบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรมและตรงตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งให้ข้อสังเกต ความเห็น และคำแนะนำแก่คณะทำงานบริหารความเสี่ยงจากหน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัทฯ  และฝ่ายตรวจสอบภายใน  ในกรณีที่มีสิ่งที่        ควรแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนา

5.2  หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมกรรมการบริหารความเสี่ยง

5.2.1 เป็นตัวแทนของคณะกรรมการบริษัท ในการทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรม

การบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ

5.2.2  กำหนดและทบทวนกรอบการบริหารความเสี่ยง กฎบัตรคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง นโยบาย และแนวทางการบริหารความเสี่ยง เป็นประจำอย่างน้อย   ทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่านโยบาย แนวทาง กรอบ และกฎบัตรฯ การบริหารความเสี่ยงดังกล่าว มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสอดคล้องต่อแผนกลยุทธ์            ในการดำเนินธุรกิจ  สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้บรรลุวัตถุประสงค์       ของบริษัทฯ

5.2.3  กำกับดูแล และสนับสนุนให้มีการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยง ด้านการต่อต้านการคอร์รัปชั่นตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ โดยมีการประเมินความเสี่ยงและทบทวนมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นให้เพียงพอและเหมาะสม

5.2.4  พิจารณาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ของบริษัทฯ

5.3.5  พิจารณาและให้ความเห็นชอบในผลการประเมินความเสี่ยง แนวทาง มาตรการควบคุมในปัจจุบัน และแผนจัดการความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ     มีการบริหารความเสี่ยงที่เพียงพอและเหมาะสมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

5.3.6 กำกับดูแล สนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงประสบความสำเร็จในระดับองค์กร เสนอแนะวิธีป้องกันประเมินผล และทบทวนปรับปรุงแผนการดำเนินงาน เพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเหมาะสมกับสภาวะ  การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

5.2.7 รายงานความเสี่ยงที่สำคัญขององค์กร รวมถึงสถานะของความเสี่ยง แนวทาง    ในการจัดการความเสี่ยง ความคืบหน้า และผลของการบริหารความเสี่ยง ให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท เพื่อรับทราบในทุกไตรมาส

5.2.8  ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

 

  1. การประชุมและการลงคะแนนเสียง

6.1  คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องประชุมเป็นประจำอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง

6.2  องค์ประชุมในการประชุมแต่ละครั้ง ต้องมีอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเข้าร่วมประชุม   ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการที่มีอยู่ในขณะนั้นจึงถือเป็นครบองค์ประชุม  และให้ประธานคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงเป็นประธานในที่ประชุม

6.3  ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจเรียกประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร       ความเสี่ยงได้เป็นกรณีพิเศษ หากมีการร้องขอจากอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณา   ประเด็นความเสี่ยงองค์กรที่สำคัญเพิ่มเติมและจำเป็นต้องหารือร่วมกัน

6.4  คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงอาจเชิญบุคคลใด ๆ ที่ไม่ใช่อนุกรรมการฯ ที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่ในวาระการประชุมเข้าร่วมประชุม หรือนำเสนอข้อมูลได้

6.5  เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่นัดหมายการประชุม จัดเตรียมวาระการประชุม นำส่งเอกสารประกอบการประชุม และบันทึกรายงานการประชุม ทั้งนี้ หนังสือเชิญประชุม และเอกสารประกอบการประชุมให้นำส่งล่วงหน้า 7 วันก่อนการประชุม

6.6  ในการลงมติของคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้ประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีเสียงคนละหนึ่งเสียง และให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์      กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงมีสิทธิลงคะแนนอีกเสียงหนึ่ง  เป็นเสียงชี้ขาด

  1. การรายงานผลการปฏิบัติงาน

7.1  คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง นำเสนอรายงานการบริหารความเสี่ยง                   ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท เป็นรายไตรมาส  เพื่อให้แน่ใจว่าคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทรับทราบและตระหนักถึงความเสี่ยงสำคัญที่องค์กรเผชิญอยู่ และปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะความเสี่ยงขององค์กรในอนาคต

7.2   ให้ประธานคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง รายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบในรายงานประจำปี และแบบแสดงข้อมูลประจำปี ถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง

 

  1. การประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง (Self-Assessment)

คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นคณะอนุกรรมการชุดย่อยเฉพาะเรื่อง  ให้มี             การประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง และรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัททราบปีละครั้ง และรายงานปัญหาอุปสรรคที่เป็นเหตุให้การปฏิบัติงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ (หากมี)  เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัททราบ

 

  1. การทบทวนกฎบัตรคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงจะสอบทานและทบทวนความเหมาะสมของกฎบัตรฯ   อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาในกฎบัตรฯ มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ  โดยจะต้องได้รับการอนุมัติกฎบัตรฯ ฉบับปรับปรุงใหม่จากคณะกรรมการบริษัท

 

  1. หลักเกณฑ์อื่น ๆ

            กรณีอื่นใดที่มิได้กำหนดไว้ในกฎบัตรฉบับนี้ ให้คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงใช้ดุลยพินิจในการนำแนวปฏิบัติที่กำหนดตามมาตรฐานและแนวทางในการบริหารความเสี่ยงทั่วไปมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละกรณี

ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2563

 

กฎบัตรคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง

กฏบัตรคณะกรรมการบริษัท

หนังสือนำส่งคู่ค้าเรื่องนโยบายต่อต้านการทุจริต

นโยบายการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน

นโยบายการลงทุนและการกำกับดูแลการดำเนินงานในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม

การแจ้งเบาะแสและรับข้อร้องเรียน

เพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ (Whistle Blower)
โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย แสดง ความคิดเห็นอย่างอิสระและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย